วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557


มหาชาติคำหลวง เวสสันดรชาดก

มหาชาติคำหลวง ก็คือเรื่องเวสสันดรชาดก สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตแปลแต่งที่เมืองพิษณุโลก เมื่อ พ.ศ. 2025

ดังปรากฏหลักฐานใน พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ว่า " ศักราช 844 ขานศก ท่านให้เล่นการมหรสพ 15 วัน ฉลองพระศรีรัตนมหาธาตุ แล้วจึงพระราชนิพนธ์พระมหาชาติคำหลวงจบบริบูรณ์ "

แต่ละกัณฑ์ กวีจะแต่งด้วยฉันทลักษณ์ที่ต่างกัน เช่น ร่ายโบราณ ฉันท์ โคลง เป็นต้น และการแต่งเรียกว่าแปลยกศัพท์ กล่าวคือขึ้นต้นวรรคด้วยภาษาบาลี แล้วแปลเป็นภาษาไทยสลับกันไปทุกวรรค

เมื่อแต่งเสร็จแล้วก็โปรดให้นำมา อ่านตรวจทานแก้ไขและคิดทำนองสวดอย่างวิจิตรพิสดาร มหาชาติคำหลวงนี้ไม่ใช่สำหรับพระเทศน์แต่ให้เจ้าหน้าที่ กรมธรรมการ

คือ ขุนทินบรรณาการและขุนธารกำนัล พร้อมกับผู้ช่วยอีก 2 คนใช้สวดถวายให้พระมหากษัตริย์ทรงฟังทุกวันพระ ในระหว่างเข้าพรรษาในวิหารหลวงวัดพระศรีสรรเพชญ์

ทำนองสวดของแต่ละกัณฑ์ มีเม็ดพรายในการสวด ก็แตกต่างกันไปทั้งหลบเสียง เอื้อนเสียง หลังจากเสียกรุงฯ เมื่อ พ.ศ. 2310 ต้นฉบับ มหาชาติคำหลวงหายไป 6 กัณฑ์ คือ หิมพานต์ ทานกัณฑ์ จุลพน มัทรี สักกบรรพ และฉกษัตริย์

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมกวีร่วมกัน แต่งซ่อมกัณฑ์ที่ยังขาดให้ครบทั้ง 13 กัณฑ์

ธรรมเนียมการสวดมหาชาติคำหลวง ยังคงสืบมาจนถึงปัจจุบันทุกวันพระในระหว่างเข้าพรรษาแต่เหลือสวด เพียงกัณฑ์มหาพนเท่านั้น

ข้าราชการกรมการศาสนาจะแต่งชุดขาว ตั้งเตียงสวดต่อท้ายอาสน์สงฆ์ในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีกระบะบูชาปักธูปเทียน สมุดที่ใช้บันทึกมหาชาติคำหลวง เป็นสมุดไทยดำเขียนตัวหนังสือ ด้วยหรดาลและมีเครื่องหมายบอกทำนองสวดกำกับไปทุกวรรค  อ่านต่อ